วัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

การรักษาโรคมะเร็งโดยการฉายรังสี การใช้ยาเคมีบำบัดเป็นการรักษาแบบเหมารวม ไม่จำเพาะกับบุคคล แต่ละคนจึงตอบสนองกับยาหรือรังสีแตกต่างกันไป นอกจากนี้มักเกิดอาการข้างเคียงรุนแรงและบางครั้งผู้ป่วยที่หายแล้วก็อาจเป็นมะเร็งเดิมได้อีก วงการวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงมีความพยายามที่จะทำวัคซีนหรือยาสำหรับโรคมะเร็งแบบเฉพาะบุคคลขึ้น

โดยมีวิธีการคือ เริ่มจากนำเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยออกมาอ่านรหัสดีเอ็นเอ จากนั้น เปรียบเทียบรหัสในตำแหน่งต่างๆ เพื่อหาว่ามีตำแหน่งใดที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีน จากนั้นใช้ซอฟต์แวร์ทางชีวสารสนเทศ หรือ bioinformatics มาจัดลำดับความสำคัญของส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นจุดตั้งต้นในการนำมาสร้างเป็นวัคซีนชนิดพิเศษ เรียกว่า นีโอแอนติเจนวัคซีน ซึ่งอาจจะเป็นสาย RNA หรือ DNA ก็ได้ จากนั้นจะฉีดวัคซีนดังกล่าวเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย โดยอาจจะใส่เข้าไปแบบนั้น หรืออาจห่อหุ้มด้วยสารพอลิเมอร์ หรือไลโปโซม (Liposome) ซึ่งวัคซีนจะไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้จดจำเซลล์มะเร็งได้ ก่อนเริ่มการค้นหาและทำลายเซลล์มะเร็งอย่างจำเพาะ โดยไม่ยุ่งกับเซลล์ปกติ บริษัท BioNTech ของเยอรมนี ร่วมมือกับบริษัท Genetech ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทยายักษ์ใหญ่ Roche เริ่มวิจัยความเป็นไปได้ที่จะสร้างวัคซีนมะเร็งแบบเฉพาะบุคคล และในปีต่อมาก็เริ่มทดสอบในผู้ป่วย 560 คน ที่เป็นมะเร็งแบบต่างๆ มากกว่า 10 ชนิด ซึ่งยังอยู่ระหว่างรอสรุปผลการวิจัย ในเมืองไทยมีกลุ่มวิจัยที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล เช่น กลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ดร.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ และทีม โดยได้ศึกษาการสร้างวัคซีนจากผู้ป่วย 25 ราย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาและพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพสูง เพื่อจะนำไปทดลองใช้กับผู้ป่วย หากได้ผลดีจะเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในการรักษาโรคมะเร็งที่ไม่จำเป็นต้องตายเสมอไป

Scroll to Top